Internet of Things หรือ IoT คืออะไร
Internet of Things (IoT) คือ การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องป้อนข้อมูล
การเชื่อมโยงนี้ง่ายจนทำให้เราสามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้
ไปจนถึงการเชื่อมโยงการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้ากับการใช้งานอื่นๆ จนเกิดเป็นบรรดา Smart ต่างๆ ได้แก่ Smart Device, Smart Grid, Smart Home,
Smart Network, Smart Intelligent Transportation ทั้งหลายที่เราเคยได้ยินนั่นเอง
ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงสื่อกลางในการส่งและแสดงข้อมูลเท่านั้น
กล่าวได้ว่า Internet of Things นี้ได้แก่การเชื่อมโยงของอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลายผ่านอินเทอร์เน็ตที่เรานึกออก
เช่น แอปพลิเคชัน แว่นตากูเกิลกลาส รองเท้าวิ่งที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลการวิ่ง
ทั้งความเร็ว ระยะทาง สถานที่ และสถิติได้
นอกจากนั้น Cloud Storage หรือ
บริการรับฝากไฟล์และประมวลผลข้อมูลของคุณผ่านทางออนไลน์ หรือเราเรียกอีกอย่างว่า
แหล่งเก็บข้อมูลบนก้อนเมฆ
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราใช้งานบ่อยๆแต่ไม่รู้ว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบของ Internet
of Things สมัยนี้ผู้ใช้นิยมเก็บข้อมูลไว้ในก้อนเมฆมากขึ้น
เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ คือ ไม่ต้องกลัวข้อมูลสูญหายหรือถูกโจรกรรม
ทั้งยังสามารถกำหนดให้เป็นแบบส่วนตัวหรือสาธารณะก็ได้
เข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
แถมยังมีพื้นที่ใช้สอยมาก มีให้เลือกหลากหลาย ช่วยเราประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
เนื่องจากเราไม่ต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เช่น ฮาร์ดไดร์ฟ หรือ Flash
drive ต่างๆ
แนวคิด Internet of Things
เดิมมาจาก Kevin Ashton บิดาแห่ง Internet of Things ในปี 1999 ในขณะที่ทำงานวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัย Massachusetts
Institute of Technology หรือ MIT เขาได้ถูกเชิญให้ไปบรรยายเรื่องนี้ให้กับบริษัท
Procter & Gamble (P&G) เขาได้นำเสนอโครงการที่ชื่อว่า
Auto-ID Center ต่อยอดมาจากเทคโนโลยี RFID ที่ในขณะนั้นถือเป็นมาตรฐานโลกสำหรับการจับสัญญาณเซ็นเซอร์ต่างๆ(
RFID Sensors) ว่าตัวเซ็นเซอร์เหล่านั้นสามารถทำให้มันพูดคุยเชื่อมต่อกันได้ผ่านระบบ
Auto-ID ของเขา โดยการบรรยายให้กับ P&G ในครั้งนั้น Kevin ก็ได้ใช้คำว่า Internet of
Things ในสไลด์การบรรยายของเขาเป็นครั้งแรก โดย Kevin นิยามเอาไว้ตอนนั้นว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆก็ตามที่สามารถสื่อสารกันได้ก็ถือเป็น
“internet-like” หรือพูดง่ายๆก็คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สื่อสารแบบเดียวกันกับระบบอินเตอร์เน็ตนั่นเอง
โดยคำว่า “Things” ก็คือคำใช้แทนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆเหล่านั้น
ต่อมาในยุคหลังปี 2000 มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถูกผลิตออกจัดจำหน่ายเป็นจำนวนมากทั่วโลก
จึงเริ่มมีการใช้คำว่า Smart ซึ่งในที่นี้คือ Smart
Device, Smart Grid, Smart Home, Smart Network, Smart Intelligent Transportation
ต่างๆเหล่านี้ ล้วนถูกฝัง RFID Sensors เสมือนกับการเติม
ID และสมอง ทำให้มันสามารถเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ตได้
ซึ่งการเชื่อมต่อเหล่านั้นเองก็เลยมาเป็นแนวคิดที่ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นก็ย่อมสามารถสื่อสารกันได้ด้วยเช่นกัน
โดยอาศัยตัว Sensor ในการสื่อสารถึงกัน นั่นแปลว่านอกจาก Smart
Device ต่างๆจะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้แล้ว
ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ตัวอื่นได้ด้วย
Internet of Things และ Big Data สัมพันธ์กันอย่างไร
ปัจจุบัน Internet of Things สามารถตอบสนองความต้องการทางด้านการใช้งานของเราได้มากขึ้น
สาเหตุเพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆมีราคาถูกลง ทำให้เกิดการใช้งานจริงมากขึ้น
มีการค้นพบ Use Case ใหม่ๆในธุรกิจ
ทำให้ผู้ผลิตได้เรียนรู้และคอยแก้โจทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ตรงใจผู้ใช้
ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ยิ่งไปกว่านั้น Internet of Things มีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ
เราจึงเริ่มเห็นธุรกิจที่หันมาให้ความสนใจ Internet of Things ในแง่ที่มันสามารถช่วยแก้ปัญหาทางธุรกิจ ทางสังคม
และช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันได้ โดยการนำเอาข้อมูลหรือ Big Data เข้ามาใช้ในการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละรูปแบบ
ถึงตรงนี้แล้วคงจะสงสัยใช่มั้ยคะว่า Big data เกี่ยวข้องอย่างไรกับ
Internet of Things
Big Data คือ ข้อมูลขนาดมหาศาลที่เกิดขึ้น ไม่มีโครงสร้างชัดเจน
หนึ่งในตัวอย่างที่เราจะเห็นได้ง่ายคือข้อมูลจากยุคโซเชียล
ผู้ใช้เป็นคนสร้างขึ้นมา ซึ่งนอกจากเนื้อหาในโลกออนไลน์แล้ว
ยังมีข้อมูลอีกประเภทหนึ่งคือ ข้อมูลจากอุปกรณ์ที่เราใช้หรือสวมใส่
เช่น สายรัดวัดชีพจรตอนออกกำลังกาย ตัวอย่างเช่น แบรนด์ไนกี้ตั้งโจทย์ขึ้นมาว่า
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกค้าซื้อรองเท้าแล้วนำไปใส่วิ่งจริง
แต่ตอนนี้พิสูจน์ได้แล้วเพราะว่าไนกี้ใช้ IoT กับสินค้าของเขา
ยิ่งไปกว่านั้นตอนนี้ลูกค้าไม่ได้ผลิตข้อมูลที่นำไปสู่ Big Data จากการโพสต์ คอมเมนต์ กดไลค์ หรือแชร์เพียงอย่างเดียว
แต่เกิดจากกิจกรรมในไลฟ์สไตล์ที่ธุรกิจหรือแบรนด์นำไปจับคู่กับสินค้า
แล้วสร้างเป็นเนื้อหาที่โดนใจผู้รับสารขึ้นมา สิ่งสำคัญคือ
ข้อมูลพวกนี้บอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นได้อย่างเดียว สิ่งสำคัญกว่าคือ ธุรกิจ องค์กร
และแบรนด์ต่างๆ จะเปลี่ยนข้อมูลพวกนี้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร
ทำอย่างไรข้อมูลจึงจะสามารถบอกได้ว่า ‘ทำไมสิ่งต่างๆเหล่านั้นถึงเกิดขึ้น’
จุดนี้จึงทำให้เรารู้จักความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค (Consumer
Insight) และรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ธุรกิจหรือบริการของเราจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ประโยชน์และความเสี่ยง
เทคโนโลยี Internet of Things มีประโยชน์ในหลายด้านทั้งเรื่องการเก็บข้อมูลที่แม่นยำและเป็นปัจจุบัน
ช่วยลดต้นทุน แถมยังช่วยเพิ่มผลผลิตของพนักงานหรือผู้ใช้งานได้ แม้ว่าแนวโน้มของ IoT
มีแต่จะเพิ่มขึ้นด้วยคุณาประโยชน์ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ประโยชน์ใดๆนั้นก็มาพร้อมกับความเสี่ยง
เพราะความท้าทายในการรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น
จะผลักดันให้ผู้เชี่ยวชาญมีการรับมือทางด้านความปลอดภัยมากขึ้น
ในทางตรงกันข้ามแฮกเกอร์หรือผู้ไม่หวังดีก็ทำงานหนักเพื่อที่จะเข้าควบคุม
โจมตีเครือข่าย หรือเรียกค่าไถ่ในช่องโหว่ที่ IoT มีอยู่
ฉะนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทาง IoT จึงจำเป็นต้องพัฒนามาตรการ
และระบบรักษาความปลอดภัยไอทีควบคู่กันไป เพื่อให้ธุรกิจและการใช้งาน
IoT สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
เห็นอย่างนี้แล้วในอีกด้านหนึ่ง
เราลองคิดเล่นๆว่ายิ่งเกิดการเชื่อมต่อมากขึ้นเท่าไหร่
ก็ก่อให้เกิดสภาวะที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมที่จะส่งผลให้มีโอกาสเติบทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ภาคธุรกิจและองค์กรจะตามคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีก็ต่อเมื่อมีระบบรองรับที่เหมาะสม
มีประสิทธิภาพ ยิ่งถ้าประเทศไทยมี 5G เข้ามาใช้ร่วมด้วย
ทุกอย่างคงเชื่อมต่อรวดเร็วพอๆกับการการใช้จิตสั่งเลยทีเดียว
และสุดท้ายนำไปสู่ประโยชน์ที่ผู้บริโภคและเจ้าของธุรกิจจะได้รับทั้งสองฝ่าย
จากข้อมูลที่ขับเคลื่อนด้วย IoT ช่วยให้ธุรกิจสามารถทำการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ของตนกับลูกค้าที่คาดหวังได้ดียิ่งขึ้น
เพราะการเชื่อมต่อของ Internet of Things ถือเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในอนาคตได้
ในที่สุด Internet of Things ส่งผลต่อการค้าและการดำเนินชีวิตทั่วโลก
และจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เทคโนโลยีพัฒนาไปในปี 2018
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น